Tuesday, May 1, 2007

มารู้จัก Pseudolithos กันครับ

skip to main | skip to sidebar

skip to main | skip to sidebar

หมายเหตุ*หลังจากส่งรายงานตัวสุดท้ายแล้วผมเกิดอาการว่างครับ เลยได้ใช้เวลาว่างมาเขียนเกี่ยวกับพืชที่ผมรักชนิดหนึ่ง หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ...


นักเล่นแคคตัสซัคคูเล้นหลายคนคงจะคุ้นเคยกับเจ้า ต้นคางคกกันดี ซึ่งนี่ก็เป็นชื่อเล่นที่ถูกตั้งขึ้นสำหรับเจ้าต้นไม้รูปทรงแปลกประหลาดตะปุ่มตะปั่มคล้ายคางคกชนิดนี้ ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pseudolithos ส่วนความหมายของชื่อนี้นั้น “pseudo” ในภาษาละตินแปลว่า ปลอมส่วน “lithos” แปลว่า หินดังนั้นชื่อนี้จึงหมายถึง หินปลอมเพราะลักษณะที่คล้ายก้อนหินของมัน ในธรรมชาติPseudolithos จึงเป็นนักพรางตัวที่ดีโดยดูกลมกลืนไปกับก้อนกรวดก้อนหินรอบข้าง

ปัจจุบันสกุล Pseudolithos มีการจำแนกอยู่ราวๆ 8 ชนิด แทบทุกชนิดมาจากเขตแห้งแล้งของประเทศโซมาเลีย เป็นที่รู้กันว่าตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาประเทศโซมาเลียเผชิญภัยสงครามอย่างหนัก ดังนั้นPseudolithos และไม้อื่นๆจากประเทศนี้จึงมักเป็นไม้ที่หายาก ราคาแพง เพราะความเสี่ยงที่จะเข้าไปสำรวจหรือเก็บตัวอย่างไม้เหล่านี้ Pseudolithos หลายชนิดจึงไม่เหมาะสำหรับผู้เริ่มปลูก เพราะราคาค่างวดที่สูงอย่างน่าตกใจ อย่างไรก็ตาม มีบางชนิดที่มีการขยายพันธุ์ขึ้นได้โดยนักเล่นมานาน และราคาย่อมเยา เช่น Pseudolithos migiurtinus และ P. dodsoniana ส่วนชนิดอื่นๆก็เริ่มมีการขยายพันธุ์ได้บ้างแล้ว เช่น P. cubiformis เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนคาดว่าอีกไม่นานเกินรอ เราคงได้เห็นชนิดใหม่ๆออกมาขายด้วยราคาที่ไม่แพงเกินเอื้อม

P. cubiformis ดูกลมกลืนในแหล่งธรรมชาติ (จาก http://www.mobot.org/gradstudents/olson/somalia.html)

Pseudolithos
มีชนิดพันธุ์ดังนี้ (2002):

P. caput-viperae Lavranos
P. cubiformis Bally
P. (Anomalluma) dodsoniana (Lavranos) Bruyns & Meve
P. gigas Dioli
P. harardheranus Dioli
P. horwoodii Bally & Lavranos
P. (Anomalluma) mccoyi Lavranos & Meve
P. migiurtinus (Chiovenda) Bally.

นอกจากนี้ยังมีชื่อใหม่ที่รอการยืนยันคือ P. eylensis nom. prov.
ส่วน P. sphaericus ปัจจุบันไม่เป็นที่ยอมรับและถูกยุบรวมไปกับ P. migiurtinus


Pseudolithos
มาจากวงศ์ Asclepiadaceae ซึ่งมีสมาชิกร่วมวงศ์เช่นโฮย่า,เดป, และ เก๋ง Pseudolithos ถูกจัดรวมไว้กับพวกเก๋งในกลุ่มย่อยที่เรียกว่า “Stapeliad” ที่รวมเอาพวกไม้ลำต้นอวบน้ำหลายสกุลไว้ด้วยกัน เช่น Caralluma, Edithcolea, Huernia, Stapelia, เป็นต้น

ท่านที่อยากมีเจ้า Pseudolithos ไว้ในครอบครอง ควรจะเริ่มจาก P. migiurtinus ก่อน เพราะหาซื้อง่าย และราคาค่อนข้างย่อมเยา (อยู่หลักสิบถึงหลักร้อย แล้วแต่ขนาด) โดยแหล่งที่หาซื้อได้แน่นอนในกรุงเทพฯคือที่ตลาดนัดจตุจักร โดยไปเดินวันพุธเพราะเป็นวันที่ร้านค้าต้นไม้ส่วนใหญ่ไปเปิดขายกัน หากท่านเลี้ยง P. migiurtinus ให้อยู่รอดสวยงามได้แล้ว ก็อาจจะหาตัวอื่นไปเล่นประดับคอลเล็กชั่น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ของท่าน

P. caput-viperae

P. eylensis (ภาพจากพี่เดียว)

P. cubiformis

P. dodsoniana

การดูแล

การจะเลี้ยงดูพวกเค้าก็ทำได้ไม่ยาก หากรู้วิธีที่ถูกต้อง จริงๆประเทศไทยเรามีภูมิอากาศที่เหมาะกับการเลี้ยง Pseudolithos มาก เพราะมีระดับความชื้นในอากาศและอุณหภูมิใกล้เคียงกับถิ่นกำเนิดของมัน ผิดกับประเทศเมืองหนาว ที่การเลี้ยง Pseudolithos ให้อยู่รอดงอกงามถูกมองเป็นเรื่องยาก และต้องใช้เรือนกระจกและเครื่องทำความร้อนที่มีราคาแพง จึงเห็นได้ชัดว่าราคา Pseudolithos ที่เพาะขายกันในต่างประเทศแม้จะเป็นชนิดธรรมดาก็ยังมีราคาที่สูงอยู่ เมื่อเทียบกับในบ้านซึ่งต้องการเพียงแค่โรงเรือนหรือหลังคาใสกันฝนเท่านั้น

Pseudolithos
ต้องการแสงแดดมาก ดังนั้นควรวางในตำแหน่งที่โดนแดดตรงๆอย่างน้อย5-6 ชั่วโมงต่อวัน หากได้รับแดดไม่เพียงพอ ลำต้นจะยืดยาวเสียรูปทรง และไม่สามารถกลับมามีทรงกลมปรกติได้ ดังนั้นปริมาณแสงที่ได้รับจึงสำคัญมาก Pseudolithos สามารถวางรวมไว้กับแคคตัสที่ชอบแดดทั่วไปได้ โดยไว้ใต้หลังคาใสกันฝนจะดีที่สุด หากท่านไม่มีเวลาวิ่งเก็บหลบฝนเวลาฝนตกโดยเฉพาะหน้าฝนที่ฝนตกกระหน่ำทุกวัน เพราะหากPseudolithos ได้รับฝนสาดมากจะเน่าตายอย่างรวดเร็ว สรุปก็คือการเลี้ยงดูเหมือนแคคตัส ที่ควรถูกรดน้ำก็ต่อเมื่อดินแห้งเท่านั้น และรดให้ชุ่มจนน้ำออกก้นกระถางทุกครั้งที่รด



ดินปลูกและกระถาง

ผู้เขียนได้ทดลองดินหลายสูตรไม่ว่าจะเป็นดินแคคตัสสำเร็จรูปจากร้านแคคตัสหลายร้าน ไปจนถึงการผสมดินเอง หรือนำเอาดินสำเร็จรูปมาผสมดัดแปลง จนได้ข้อสรุปที่แน่นอนว่า Pseudolithos ชอบดินที่มีความโปร่งสูงมาก และแห้งเร็ว วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะได้ดินที่เหมาะกับ Pseudolithos ก็คือการใช้ดินแคคตัสสำเร็จรูปสูตรใดก็ได้ที่มีขายตามท้องตลาด โดยสามารถนำมาผสมกับหินภูเขาไฟเม็ดเล็ก 1 ส่วนต่อ 3 ส่วนของดิน หรือแล้วแต่ความแน่นของเนื้อดินที่ซื้อมา ไม่มีกฎตายตัว ซึ่งท่านต้องทดลองหาอัตราส่วนและความโปร่งที่เหมาะกับดินสูตรที่ท่านใช้ เท่านี้ท่านก็จะได้ดินที่เหมาะกับ Pseudolithos ของท่าน

เมื่อครั้นPseudolithos ของท่านเติบโตจนแน่นกระถาง หรือดินในกระถางหมดคุณภาพลง ก็ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนกระถาง วิธีการก็ไม่ต่างจากแคคตัส เพียงแต่จะมีข้อพึงระวังอยู่นิดหน่อย เมื่อท่านถอดต้นออกมาจากกระถางเดิม บางทีดินจะหลุดออกมาก ไม่เป็นตุ้มดิน ซึ่งเป็นเรื่องปรกติ เนื่องจาก Pseudolithos เป็นพืชที่มีระบบรากเป็นรากฝอยและมีรากจำนวนน้อย อย่างไรก็ตามหากรากเดิมยังดูแข็งแรงอยู่ ก็ควรจะเก็บรากไว้ในตุ้มดินเดิมพอสมควร อย่าแคะดินเก่าออกหมด และอย่าล้างรากหากไม่จำเป็น ซึ่งการตัดแต่งและล้างรากก็ทำ ต่อเมื่อระบบรากเดิมเน่าหรือมีโรคแมลงเท่านั้น นำลงปลูกในกระถางใหม่ โดยรองหินภูเขาไฟหรือถ่านทุบไว้ก้นกระถาง และเติมดิน ข้อควรระวังคืออย่าฝังโคนต้นเด็ดขาด! พยายามปลูกให้ลำต้นถูกฝังที่ตำแหน่งเดิมหรือต่ำกว่าเท่านั้น ไม่เช่นนั้นโอกาสเน่าโคนต้นมีสูงโดยเฉพาะต้นที่ยังอายุไม่มาก ผู้เขียนนิยมปลูกในลักษณะที่ต้น วางอยู่บนผิวดินเท่านั้น และฝังเฉพาะราก และใช้กรวดโรยหน้าหรือหินภูเขาไฟช่วยค้ำต้นไม่ให้ล้ม เมื่อเปลี่ยนกระถางแล้ว เราควรงดรดน้ำและวางไว้ในที่ร่มรำไรประมาณสองอาทิตย์ การรดน้ำครั้งแรกควรรดให้ชุ่ม และผสมยาฆ่าเชื้อราไปกับน้ำที่รดเพื่อป้องกันการเน่า เมื่อรดน้ำแล้วก็สามารถนำมาตั้งไว้ในตำแหน่งโดนแดดเช่นเดิม

กระถางปลูกควรเป็นกระถางทรงตื้น เนื่องจากระบบรากฝอยที่เล็กจึงไม่จำเป็นต้องใช้กระถางลึก และกระถางทรงตื้นจะแห้งเร็วกว่า ลดปัญหาเน่าได้ ผู้เขียนได้ทดลองใช้กระถางดินเผาและพบว่าได้ผลลัพท์ที่ดีมาก และระบบรากแข็งแรงดีกว่าใช้กระถางพลาสติก ซึ่งน่าจะเป็นเพราะการถ่ายเทของอากาศผ่านทางด้านข้างของกระถางนั้นดีกว่า และอุณหภูมิที่ระบบรากเย็นกว่า

โรคและศัตรูพืช
โรคเน่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับพืชกลุ่มนี้ เนื่องจากบางทีก็ดูเหมือนเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีสาเหตุและไม่ทันตั้งตัว และเมื่อเกิดแล้วก็จะลามไปทั่วต้นอย่างรวดเร็วจนส่วนใหญ่เราจะไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ทัน คำแนะนำที่ดีที่สุดก็คงจะเป็นการระวังเรื่องการรดน้ำ เราควรรดก็ต่อเมื่อดินแห้ง และรดถี่น้อยลงในบรรยากาศครึ้มๆของหน้าฝน อีกอย่างที่สำคัญคือการใช้ดินที่สะอาด อย่านำดินเก่าที่ใช้แล้วมารีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ แต่บางทีถึงแม้เราจะทำทุกอย่างถูกต้อง Pseudolithos ก็ยังเป็นพืชที่เน่าค่อนข้างง่ายอยู่ดี ผู้ปลูกเลี้ยงทุกท่านจึงควรรดยาฆ่าเชื้อราเป็นครั้งคราวเพื่อป้องกันการเน่า

นอกจากโรคเน่าแล้ว Pseudolithos ยังเป็นอาหารอันโอชะของบรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย ศัตรูสามอย่างที่เป็นปัญหามากที่สุดสำหรับPseudolithosของผู้เขียนคือ หนู, หนอนผีเสื้อ, และเพลี้ยแป้ง ตัวหลังนี้ไม่เป็นปัญหามาก เนื่องจากมักจะโจมตีดอกและฝักเท่านั้น ซึ่งทำให้ฝักเติบโตผิดปรกติ และเมล็ดภายในเสื่อมคุณภาพ แต่ก็สามารถกำจัดได้ง่ายด้วยการเก็บออก หรือใช้ยาฆ่าแมลง ส่วนหนอนผีเสื้อนั้นมักจะโจมตีทีเผลอ โดยจะฟักเป็นตัวจากไข่ที่ถูกวางไว้และกัดกินดอกจนหมดอย่างรวดเร็วภายในวันสองวัน และเมื่อดอกหมดก็จะเริ่มกัดกินต้นจนแหว่งเสียหาย ทางเดียวที่จะป้องกันคือการคอยดูว่ามีหนอนอยู่บนPseudolithos ของเราหรือไม่ ซึ่งเรามักจะพบมูลของหนอนหรือรอยดอกแหว่งเป็นสัญญาณ หากพบตัวหนอนต้องรีบเก็บออกทำลายทันที สุดท้ายก็คือหนู ท่านที่ปลูกแคคตัสซัคคูเล้นส่วนใหญ่คงเข้าใจดีว่า หนูอาจแทะต้นไม้สุดรักของเราแหว่งไปครึ่งต้นในชั่วข้ามคืน หรือแทะเล็กแทะน้อยจนทำให้ไม้เสียความงามหลายต้นในคราวเดียว เราควรกำจัดหนูด้วยกับดักหรือวางยาในที่ๆเราปลูกต้นไม้อยู่อย่างสม่ำเสมอ























































































หน่วยผสมดอกPseudolithos ทำงานอย่างขยันโดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง


การขยายพันธุ์
ดอกของ Pseudolithos มักจะออกต่อเนื่องเกือบทั้งปี ซึ่งดอกมักมีขนาดเล็กไม่สวยงามมากนักหากเทียบกับ Stapeliad สกุลอื่น ใครที่มี Pseudolithos อยู่ที่บ้านคงจะรู้ดีถึงกลิ่นดอกของ Pseudolithos ว่าหอมหวนชวนดมเช่นไร! ยิ่งเวลากลางวันแดดร้อนๆ กลิ่นจะตะหลบอบอวนจนแทบคิดว่ามีตัวอะไรมาตายแถวนั้น จริงๆกลิ่นเหม็นเน่านี้เป็นสิ่งที่ล่อแมลงวันน้อยใหญ่ใหญ่เข้ามาดอมดม หรือแม้แต่วางไข่! เจ้าพืชกลุ่มนี้จะใช้แมลงวันเป็นตัวช่วยผสมเกสร และได้ผลดีมากอย่างน่าประหลาดใจ ใครมีPseudolithos วางไว้ในที่ๆแมลงวันตอมเยอะๆมักจะได้ฝักในไม่ช้า แต่ถ้าใครคิดจะผสมPseudolithos ด้วยตัวเองก็ต้องลองคิดใหม่ เพราะลักษณะดอกของพืชกลุ่มนี้มีเกสรตัวผู้เก็บไว้ในโครงสร้างพิเศษที่เรียกว่า pollinium คล้ายๆของกล้วยไม้ แต่จะมีขนาดเล็กมากจนต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องเพื่อการผสม จึงทำให้การผสมมือค่อนข้างยุ่งยากและต้องการการฝึกฝนสูงมาก ผู้เขียนเองก็ไม่มีประสบการณ์พอที่จะอธิบายถึงการผสมได้อย่างชัดเจน การปล่อยให้แมลงวันผสมตามธรรมชาติของมันจึงเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด

เมื่อติดฝักแล้ว จะต้องใช้เวลาหลายอาทิตย์กว่าฝักจะแก่ เราควรสังเกตดูการเจริญเติบโตของฝัก เมื่อฝักเติบโตจนได้ขนาดเต็มที่จะหยุดโตและรอเวลาที่ฝักจะเปิดออก ณ จุดนี้เราควรนำหนังยางมามัดไว้เบาๆ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นเมื่อฝักเปิดออกเมล็ดภายในจะปลิวหนีหมด ซึ่งเมล็ดจะมีขนฟูๆคล้ายนุ่นติดอยู่จึงทำให้ปลิวไปตามลมได้ง่าย แต่หากมีหนังยางมัดอยู่ฝักจะเปิดออกแต่จะไม่อ้ากว้างจนเมล็ดหลุดออกมาหมด

เมล็ดที่เก็บได้ควรนำมาแยกเอานุ่นออก ผู้เขียนใช้วิธีการใส่กล่องพลาสติก ปิดฝา แล้วเขย่าจนนุ่นหลุดจากเมล็ด จากนั้นเปิดฝาแล้วค่อยๆเป่าด้วยปากเบาๆ นุ่นจะปลิวออกมาหมดเหลือแต่เมล็ดไว้ในกล่อง แต่ควรเป่านอกบ้านไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหากับคนที่ทำความสะอาดบ้าน จากนั้นควรนำเมล็ดไปเก็บไว้ในซองกระดาษ และควรรีบเพาะให้เร็วที่สุด เพราะเมล็ด Pseudolithos สูญเสียอัตราการงอกค่อนข้างเร็วหากเก็บเมล็ดไว้นานเกินสองเดือน

การเพาะเมล็ดนั้นเราควรใช้กระถางเล็กหรือกระถางแบนเท่านั้นเพื่อกันดินแฉะเกินไป การเตรียมกระถางเพาะก็เหมือนทั่วไปโดยรองก้นกระถางด้วยหินภูเขาไฟหรือถ่านทุบ ใช้ดินโปร่งอย่างที่กล่าวถึงข้างต้น รดน้ำจนชุ่มด้วยน้ำที่ผสมยาฆ่าเชื้อรา แล้วนำเมล็ดโรยบนหน้าดิน ไม่ต้องกลบ แล้วสเปรย์น้ำ+ยาซ้ำอีกหน่อย นำเข้าถุงพลาสติกใสแล้วปิดให้แน่น วางไว้ในที่แดดปานกลางไม่จัดมาก เมล็ดจะเริ่มงอกประมาณสองสามวันหลังจากเพาะ เมื่อเมล็ดงอกจนหยุดแล้ว ก็ค่อยๆแง้มปากถุงวันละนิดเพื่อให้ต้นอ่อนค่อยๆปรับตัวกับอากาศที่แห้งกว่าภายนอก จนสามารถนำออกจากถุงได้ในที่สุด ช่วงสองเดือนแรกต้องหมั่นรดน้ำอย่าให้ดินแห้ง และเสริมยาฆ่าเชื้อราเป็นครั้งคราว หลังจากสองเดือนไปแล้วค่อยๆปรับการรดน้ำ โดยรดให้ถี่น้อยลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สามารถรดน้ำเหมือนต้นที่โตแล้วตามปรกติ

การแยกปลูกจากระถางที่เพาะนั้น ควรกระทำหลังต้นอายุ6 เดือนขึ้นไป และยิ่งต้นอายุมากเท่าไหร่อัตราการตายเพราะการแยกกระถางยิ่งน้อยลงเท่านั้น แต่ถ้าเมล็ดถูกเพาะแน่นจนเกินไป ต้นอาจโตเบียดกันจนต้องแยกก่อนกำหนดด้วยความจำเป็น จึงไม่ควรเพาะเมล็ดจำนวนมากต่อหนึ่งกระถาง การแยกต้นอ่อนเราก็สามารถปฏิบัติเหมือนการเปลี่ยนกระถางที่กล่าวไว้ข้างบน

ข้อมูลในบทความนี้เกิดจากความรู้ที่ผู้เขียนได้รับ จากนักเล่นผู้มีประสบการณ์หลายท่าน หรือศึกษาจากหนังสือและอินเตอร์เน็ต และที่สำคัญคือการที่ได้ปลูกไม้ที่น่ารักตัวนี้มาหลายปีพอสมควร ได้ลองผิดลองถูกจนค้นพบเทคนิคการเลี้ยงที่อาจจะไม่ดีที่สุด แต่ก็เป็นเทคนิคที่ผู้เขียนพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ท่านผู้อ่านอาจนำไปใช้หรือประยุกต์ดัดแปลงตามความเหมาะสมของแต่ละท่าน หวังว่าทุกท่านจะมีความสุขกับการเลี้ยง Pseudolithos และประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธ์ไม้ประหลาดน่าทึ่งชนิดนี้

BEE



ลูกๆอายุห้าเดือน

แยกกระถางแล้ว

ลูกๆdodsoniana

ลูกผสม migiurtinus x dodsoniana


ได้ความรู้มากเลยครับคุณ บี

Pong

[9 เม.ย. 2550]

ขอบคุณค่ะ คุณบี ถึงจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ยังคงส่งความรู้มาให้อ่านเสมอๆ

เปาะ

[9 เม.ย. 2550]

สารภาพนะครับ ว่าอ่านไม่จบ แต่ว่าก็น่าสนใจมากครับ เพราะว่าผมก็พอมีอยู่บ้าง คงต้องเซฟเก็บไว้เป็นองค์ความรู้นะครับ...ขอบคุณมากมายครับ

บอส์ส

[9 เม.ย. 2550]

ได้ความรู้มากคะ ตอนแรกนึกว่า Pseudolithos จะมีแค่พันธุ์เดียวเหมือนโอบิโกเนีย ที่ไหนได้มีสายพันธุ์ของมันแยกออกไปอีก ขอบคุณคะที่ให้ความรู้

yui –

[9 เม.ย. 2550]

ขอบคุณมากครับ กะลาที่คอบหายออกไปอีกใบเเล้วครับ

โฟร์ [10 เม.ย. 2550]

รอมานานแล้ววววววววว
ในที่สุดก็มีผู้ใจดีมาชี้ทางสว่างในการเลี้ยงเจ้าคางคก
ให้ซะที หลังจากลองผิดลองถูกมานาน อิอิ

เพลย์บอยบางบอน/ตู่ครับ

[10 เม.ย. 2550]

ขอบพระคุณคุณบีครับ ที่นำสิ่งดีมานำเสนอตลอดครับ^_^

laker(เล็ก)

[10 เม.ย. 2550]

ทั้งภาพและข้อความน่าสนใจและมีประโยชน์มาก
ขอบคุณครับ

Som

[10 เม.ย. 2550]

อ่านจบผมก็สั่งprintเลยทันที มีประโยชน์มากๆเเละถูกใจเเบบสุดๆ ไม่เคยผิดหวังกับความรู้ที่คุณบีมอบให้เลย หากขอได้ครั้งหน้าขอความรู้เป็น4ยักษ์ใหญ่ที่เกาะโซโคทราได้มั้ยครับ

เพราะผมถูกใจกับกลุ่มนี้ทั้งกลุ่มเลย โดยเฉพาะดอสทิเนียกิเเกสเเละโซโค

Tootoilet

[10 เม.ย. 2550]

ขอบคุณ คุณ BEE ที่นำความรู้และประสบการณ์มาเผยแพร่ ช่วยๆกัน ขอเสริมวิธีเก็บเมล็ดอย่างง่าย รอจนฝักเจริญเติบโตสัก 3 สัปดาห์หรือฝักยาวสัก 1 นิ้ว ตัดหลอดกาแฟ เสียบไว้ดังรูป รอฟักแก่หลุดจากต้นเก็บไปแยกเมล็ดได

หมออ๋อย

[10 เม.ย. 2550]

ขอบคุณคุณ BEE มากเลยครับ ที่ให้ความรู้ในครั้งนี้ เพราะผมเองก็พึงมีเจ้า P. migiurtinus ครับ หัดเลี้ยงตามที่คุณ BEE ได้บอกไว้

อาร์ต_army24

[11 เม.ย. 2550]

ขอบคุณพี่BEE สำหรับความรู้ใหม่ๆที่มีประโยชน์มากเลยคะ
โอ๊ตเองก็เป็นคนนึงที่ชอบเหล่าPseudolithos

(
ไอ้ลูกๆทั้งหลายน่าลักจักนะคะ)

ข้าวโอ๊ต

[11 เม.ย. 2550]

เทคนิคคุณหมออ๋อยเจ๋งมากเลยครับ ดูแปลกตาด้วย แต่ผมยังไม่มีโอกาสได้เมล็ดเลยครับ *-*

บอส์ส

[11 เม.ย. 2550]

ขอบคุณทุกท่านครับ และดีใจที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ครับ ทำให้มีแรงที่จะเขียนต่อไปอีกเรื่อยๆครับ

คุณตู่ครับ เรื่องยักษ์แห่งโซโคทรานี่ใจตรงกับผมเลยครับ ตั้งใจจะเขียนแต่อาจต้องรออีกปีสองปี เพราะตอนนี้ยังไม่คุ้นกับบางตัว อย่าง Dendrosicyos และ Dracaena cinnabari และผมอาจจะขยายความออกไปรวบรวมถึงตัวอื่นๆที่น่าสนใจอย่าง Euphorbia arbuscula และ Boswellia nana เป็นต้นครับ ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มๆศึกษาเค้าครับ เพิ่งซื้อหนังสือเกี่ยวกับ Socotra เล่มใหญ่มาอ่านสดๆร้อนๆเลยครับ

ขอขอบพระคุณหมออ๋อยที่แนะนำการครอบฝักวิธีใหม่ครับ บางที่วัสดุใกล้ตัวนำมาใช้แบบนี้นึกไม่ถึงจริงๆครับ ต้องนำไปใช้ซะแล้วครับ

BEE

[11 เม.ย. 2550]

ยอดเยี่ยม เช่นเคยค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ ทุกท่าน

เป้า

[11 เม.ย. 2550]

ได้รับความรู้มากขึ้นเยอะเลยค่ะ...ขอบคุณสำหรับเนื้อเรื่องดี ๆ แบบนี้นะคะ ^-^

จุ๋ม

[11 เม.ย. 2550]

เขียนได้เยี่ยมมากๆเลยนะ เข้าใจง่ายละเอียดเสียจนต้องปรบมือให้จริงๆ แปะๆๆๆๆๆ ว่าแต่คุณAgajoe(ญาติผม)ได้ลองวิธีที่บีเก็บเมล็ดมาใช้แล้วล่ะขอบอกว่า workสุดๆ Thanks

Leonet

[17 เม.ย. 2550]

อยากได้ต้นที่แยกกระถางในรูปจังเลยครับ ไม่ทราบว่าต้องทำยังไงครับ แนะนำด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

elchinofasto@

hotmail.com

- [25 เม.ย. 2550]

น่าเสียดายที่ตอนนี้ผมอยู่ต่างประเทศน่ะครับ อีกหลายเดือนถึงกลับ ถ้ากลับไทยแล้วก็ยินดีแบ่งแน่นอนครับ

BEE

[26 เม.ย. 2550]